Please use this identifier to cite or link to this item: http://hdl.handle.net/123456789/1081
Title: ภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้านคติความเชื่อ และพิธีกรรมในการตั้งศาลพระภูมิที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน : กรณีศึกษาชุมชนวัดบางสะแกใน และชุมชนสามัคคีธรรม แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
Other Titles: The Influences of Folk Wisdom about Faiths and the Rite of Setting up a Spirit House upon People's Way of life : A Case Study of Wat Bangsakaenai Community and Samakkidham Comminity, Talad Plu District, Dhonburi, Bangkok
Authors: สมพร, รัตนบุรี
Rattanaburi, Somporn
Keywords: ภูมิปัญญาชาวบ้าน
ความเชื่อ
พิธีกรรม
การตั้งศาลพระภูมิ
วิทยานิพนธ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
Issue Date: 2003
Publisher: Dhonburi Rajabhat University. Office of Academic Resources And Information Technology.
Abstract: วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และพิธีกรรมในการตั้งศาลพระภูมิและศึกษาคติความเชื่อ ที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ของประชาชนในชุมชนวัดบางสะแกใน และชุมชนสามัคคีธรรม แขวงตลาดพลู การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แนวคิดจากทฤษฎีทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา เป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการวิจัยประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและใช้วิธีการสัมาษณ์กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ชุมชนวัดสะแกใน จำนวน 7 คน ชุมชนสามัคคีธรรม จำนวน 20 คน ปราชญ์ชาวบ้าน จำนวน 2 ท่าน โดยมีแนวคำถามในประเด็นคติความเชื่อ และพิธีกรรมในการตั้งศาลพระภูมิที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต ของประชาชนในกระแสการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงได้ใช้ข้อมูลจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด มาประกบก่อนที่จะสรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาพบว่า คติความเชื่อและพิธีกรรมในการตั้งศาลพระภูมินั้น มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของประชาชนในชุมชนวัดบางสะแกในและชุมชนสามัคคีธรรม ใน 4 ด้าน คือ 1. ด้านสังคม ผลการศึกษาพบว่า ชาวบ้านมีความเชื่อในการตั้งศาลพระภูมิว่า ความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อที่เป็นนามธรรม เป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลทางด้านจิตใจ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งความเชื่อก็เปรียบเหมือนกลอุบายให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน ระหว่างคนในครอบครัว บ้านสู่บ้าน บ้านสู่ชุมชน และชุมชนสู่อีกชุมชนหนึ่ง ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกัน นำไปสู่การทำกิจกรรมร่วมกันในสังคม ผลทางสังคมอีกด้านหนึ่งคือ สังคมจะมีคนที่พร้อมไปด้วยศีลธรรมจรรยา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเคารพนอบน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพ และพฤติกรรมที่ไม่ก้าวร้าวซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม อันเป็นผลโดยอ้อมที่การตั้งศาลพระภูมิส่งผ่านทางคติความเชื่อมาแก่ผู้ตั้งศาลไว้ในบ้านและครอบครัว ประโยชน์ที่ได้จึงตกแก่สังคมด้วย 2.ด้านการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า ชาวบ้านเชื่อว่าการตั้งศาลพระภูมิเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ที่คนส่วนมากมองว่าเป็นสิ่งไม่ดี เป็นความเชื่อที่ไร้เหตุผล แต่จริงๆ แล้ว การตั้งศาลพระภูมิ เป็นสิ่งที่สามารถศึกษาให้เข้าใจได้ มีเป้าหมายในการตั้งที่แน่นอน ทั้งยังเป็นวิธีนำไปสู่การส่งเสริมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีไทย และจรรยามารยาทที่ดี ที่แฝงอยู่ในคติความเชื่อ ระเบียบพิธีและพิธีกรรมต่างๆ ด้วย ฉะนั้น ศาลพระภูมิจึงเป็นสิ่งที่ควรจะมีการจัดระเบียบให้คนทั่วไปสามารถศึกษาและค้นคว้าได้ เพราะไม่ได้เป็นศาสตร์ลึกลับ ซับซ้อนแต่อย่างใด ทั้งยังถือเป็นการดำรงเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมในการสร้างเรือนไทย เป็นกลวิธีในการสร้างเสริมศีลธรรมจรรยา และสั่งสอนอบรมในทางอ้อม ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ แต่ผ่านการซึมซับทุกๆวันก็ส่งผลนำไปสู่จิตใจที่ดีงามรู้จักแยกแยะดีชั่ว รู้จักเคารพบูชาสิ่งที่ควรบูชา ไม่เชื่อแบบงมงาย และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้มั่นคงพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆต่อไป 3.ด้านเศรษฐกิจ ผลการศึกษาพบว่า ชาวบ้านยังมองว่าการตั้งศาลพระภูมินั้น หากมองโดยภาพรวมแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ความเชื่อทางด้านจิตใจอย่างเดียวเท่านั้น ยังส่งผลต่อคนและสังคมในหลายๆ ด้านรวมทั้งด้านเศรษฐกิจด้วยไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อม ตั้งแต่ผู้ตั้งศาลพระภูมิถึงชุมชนที่แวดล้อมอยู่ และทำให้เกิดมีการใช้จ่ายหมุนเวียนตามอุปสงค์ อุปทานของชุมชน ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ เริ่มตั้งแต่ผู้ทำศาลพระภูมิเป็นอาชีพ จะได้รับการสนับสนุนงานฝีมือด้านนี้จากผู้ที่มีความต้องการจะตั้งศาลพระภูมิ ทำให้เกิดเป็นโซ่ขึ้นห่วงหนึ่งระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทั้งยังเป็นการส่งเสริม ให้มีการสร้างสถาปัตยกรรม อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสังคมไทย และเป็นอาชีพที่ใช้ฝีมือในการหาเลี้ยงชีพอีกอย่างหนึ่ง ห่วงโซ่ถัดมาคือ ระหว่างผู้ตั้งศาลพระภูมิกับผู้ประกอบพิธีตั้งศาลพระภูมิ ห่วงโว่นี้ก่อให้เกิดการจ้างงานที่ไม่ใช่การใช้แรงงานทั่วไป แต่เป็นการจ้างเอาภูมิปัญญาทางด้านคติความเชื่อที่มีอยู่ภายในสังคมไทย และเป็นการส่งเสริมให้ภูมิปัญญาด้านนี้ได้รับการสืบทอดให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไป นอกจากนี้แล้ว ห่วงโซ่นี้ยังส่งผลไปถึงการให้ความเคารพนับถือต่อบทบาทของศาสนาพุทธ ซึ่งมีหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยด้วย แม้แรกเดิมทีการตั้งศาลพระภูมิจะไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเลย แต่ปัจจุบันสังคมไทยยอมรับกับการมีพิธีสงฆ์ ในงานด้านต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการตั้งศาลพระภูมินี้ด้วยจึงเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมระหว่างบ้านกับวัดได้อีกทางหนึ่งด้วย ห่วงโซ่ต่อไปเกิดขึ้น ระหว่างผู้ตั้งศาลพระภูมิกับพ่อค้าแม่ค้า ที่ขายสินค้าเกี่ยวกับเครื่องสังเวยตั้งแต่ดอกไม้ธูปเทียนจนถึงอาหารคาวหวาน ได้มีการแลกเปลี่ยนกันในระบบเงินตราโดยตรงเป็นผลให้เกิดการหมุนเวียนเงินตราระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการบริการทางด้านนี้ เป็นการระบายสินค้าได้อีกทางหนึ่งของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ห่วงงโซ่สุดท้ายก็คือ ระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับเกษตรกร ที่ผลิตสินค้าประเภทนี้ป้อนสู่ตลาด เป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจแบบรากหญ้ามีพลวัตที่สามารถอยู่ได้ด้วยทุนรอนของเกษตรกรเอง ไม่ต้องหันไปทำอย่างอื่นอีก ห่วงโซ่เหล่านี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในด้านเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับการตั้งศาลพระภูมิ เป็นห่วงโซ่ที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์โดยมีผู้ที่ต้องการตั้งศาลพระภูมิเป็นตัวกลางคอยเชื่อมห่วงโซ่เหล่านี้ จึงเป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการตั้งศาลพระภูมิ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาพบว่า การตั้งศาลพระภูมิยังมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่ตั้งศาลจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าบ้านเป็นอย่างดี ทำให้บริเวณนั้นเป็นที่น่าพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งสะอาด เรียบร้อย ทั้งนี้เนื่องมาจากในการตั้งศาลจะต้องเลือกสถานที่เหมาะสมที่สุดในบริเวณบ้านเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ที่ตั้งศาลพระภูมิต้องอยู่ไกลจากครัว ห้องสุขาราวตากผ้า กรงหรือที่เลี้ยงสัตว์และที่ทิ้งขยะมูลฝอยต่างๆ เพื่อให้เหมาะแก่การเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องเคารพบูชา ชัยภูมิเช่นนี้จึงเป็นที่เหมาะแก่การดึงดูดให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกน่าเคารพยำเกรงต่อศาลพระภูมิไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ดีในบริเวณนั้น เป็นการจำกัดบริเวณไว้สำหรับการทำบุญกุศลทั้งยังใช้เป็นที่ผ่อนคลายอารมณ์ตรึงเครียดของคนในบ้านได้เป็นอย่างดี บางบ้านก็อาจจะมีการจัดสวนหย่อมไว้รอบๆหรือใกล้บริเวณของศาลพระภูมิ ยิ่งทำให้บรรยากาศบริเวณนั้นร่มรื่นน่าอยู่ ระบบนิเวศน์ก็สมดุลยิ่งขึ้น เป็นการถ่ายเทความร้อนจากบ้านให้เกิดความร่มเย็น ผู้อยู่อาศัยก็มีสุขภาพจิตที่ดี
URI: http://cms.dru.ac.th/jspui/handle/123456789/1081
Appears in Collections:Thesis Dhonburi Rajabhat University - วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Title 1.pdfปก769.48 kBAdobe PDFView/Open
Title 2.pdfหน้าอนุมัติ429.21 kBAdobe PDFView/Open
Abstract.pdfบทคัดย่อ3.03 MBAdobe PDFView/Open
Acknowledgement.pdfกิตติกรรมประกาศ490.85 kBAdobe PDFView/Open
Table of contents.pdfสารบัญ1.5 MBAdobe PDFView/Open
Unit 1.pdfบทที่ 14.54 MBAdobe PDFView/Open
Unit 2.pdfบทที่ 233.6 MBAdobe PDFView/Open
Unit 3.pdfบทที่ 34.33 MBAdobe PDFView/Open
Unit 4.pdfบทที่ 417.04 MBAdobe PDFView/Open
Unit 5.pdfบทที่ 58.41 MBAdobe PDFView/Open
Bib.pdfบรรณานุกรม2.37 MBAdobe PDFView/Open
Appendix.pdfภาคผนวก9.81 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.