Please use this identifier to cite or link to this item: http://hdl.handle.net/123456789/945
Title: คติเรื่องแม่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
Other Titles: The Concept Motherhood in the Theravada Buddhist Canon
Authors: บุญรัตน์, โพธิไพรัตนา
Phothipairatana, Boonrat
Keywords: พุทธศาสนา,แม่,หลักคำสอน,คัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท,วิทยานิพนธ์
Issue Date: 2004
Publisher: Dhonburi Rajabhat University Office of Academic Resources And Information Technology
Abstract: วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับคติเรื่องแม่ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา พ.ศ.2530 และคัมภีร์ชั้นรอง คือ มังคลัตถทีปนีแปล เล่ม 2 และธัมมปทัฏฐกถาแปล เล่ม 1 – 8 ซึ่งเป็นการศึกษาตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การศึกษาคติเรื่องแม่ในคัมภีร์พระพุทธเถรวาท เพื่อต้องการนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “แม่” ที่หมายถึง หญิงผู้ให้กำเนิดลูก ผู้ที่ให้การเลี้ยงดูลูก ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาถึงสถานภาพ บทบาทหน้าที่ของแม่ที่พึงปฏิบัติต่อลูก และแนวคิดเกี่ยวกับความสำคัญของแม่ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ดังกล่าว ผลจากการศึกษาวิจัยสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการอบรมเลี้ยงดูลูกของครอบครัว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ความรู้แก่เยาวชนได้นำไปเป็นแนวทางในการให้ความรู้ และเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนให้พร้อมสำหรับการเตรียมตัวเตรียมใจที่จะเป็นแม่คนในอนาคต จากสภาพอันเสื่อมทรามของสังคมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น ปัญหาการทำแท้งที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจของหญิง การทอดทิ้งลูกให้เป็นกำพร้าโดยปราศจากแม่คอยเลี้ยงดู ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวที่ทำให้แม่ต้องทิ้งลูกให้อยู่ในความดูแลของผู้อื่น เพราะแม่ต้องออกไปทำงานเพื่อช่วยหารายได้มาจุนเจือครอบครัว แม่จึงไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูก ทำให้ลูกขาดความอบอุ่น จนเกิดปัญหาขึ้นภายในครอบครัว เช่น ลูกคบเพื่อนที่มีความประพฤติไม่ดี หรือติดยาเสพติด และปัญหาหญิงที่แต่งงานแล้วแต่ไม่สามารถมีลูกเพื่อเป็นทายาทสืบตระกูลของสามีได้ ทำให้สามีต้องหารภรรยาใหม่เพื่อให้มีลูกสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่ก็มีหญิงบางคนมีความคิดที่แปลกแยกไป คือต้องการมีลูกเป็นของตนเองโดยไม่ต้องการมีสามีมาเป็นพ่อของลูก จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่จะเป็น “แม่” ได้นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก มิใช่ว่าหญิงคนใดก็สามารถเป็นแม่ได้ หญิงที่จะมีลูกได้จะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และแต่งงานอยู่กินกับชายฉันสามีภรรยา เป็นธรรมดาที่หญิงแต่งานแล้วย่อมต้องการมีลูก จึงทำการพิธีอันเป็นมงคลต่างๆ เพื่อให้ได้ลูกมาเกิดในครรภ์ของตน แต่หญิงบางคนที่แต่งงานแล้วก็ไม่สามารถมีลูกให้แก่ครอบครัวได้ เพราะไม่เคยได้ทำบุญกุศลในวัยใดเลย ทำให้เกิดปัญหาสามีต้องหารภรรยาใหม่เพื่อจะได้มีลูกสืบทอดวงศ์ตระกูลของตน และยังได้พบว่ามีหญิงบางคนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่แบบกักขังโดยไม่ให้พบปะผู้คน จนแอบลักลอบได้เสียกับชายจนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดลูกออกมาจึงนำไปทิ้งจนมีผู้พบแล้วนำไปเลี้ยงดู หญิงบางคนเมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ก็แอบทำแท้งด้วยสาเหตุนานาประการ อาทิ เป็นชู้กับชายอื่น ครอบครัวยากจนมีลูกหลายคน ทำให้เกิดความกลัวว่าลูกที่เกิดมาจะทำให้ลำบากจึงไม่อยากให้ลูกเกิดมาพบกับความลำบาก สถานภาพของ “แม่” ได้แก่ ฐานะแม่ผู้ให้กำเนิดลูก ฐานะแม่ผู้ให้การเลี้ยงดู ฐานะแม่ของสามี ฐานะแม่ของภรรยา และฐานะของผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแม่ เนื่องจากได้ประกอบคุณความดีแก่สังคมและประเทศชาติอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม จากสถานภาพต่าง ๆ ของแม่ ดังที่กล่าวมาแล้ว แม่จึงเปรียบเสมือนผู้ที่สวมบทบาทเป็นพระพรหม คือ ผู้ให้กำเนิด ให้การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักที่บริสุทธิ์โดยไม่หวังสิ่งทดแทนจากลูก แม่เป็นผู้ที่ประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 คือ เป็นผู้ที่มีความเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ให้แก่ลูกของตน เป็นบุรพเทพ คือเป็นเทวดาองค์แรกที่ให้ความคุ้มครองดูแล ปกป้องผองภัยต่าง ๆ ให้แก่ลูก เป็นบุรพจารย์ คือ เป็นครูคนแรกของลูก ที่สอนให้ลูกรู้จักชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม และเป็นอาหุไนยบุคคล คือเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการเคารพบูชา กราบไหว้ จากลูก หน้าที่ของแม่เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เพราะการให้กำเนิดชีวิตหนึ่งหากแม่ขาดซึ่งพรหมวิหาร 4 เสียแล้วลูกก็ไม่สามารถจะมีชีวิตและเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ภาระหน้าที่ของแม่เริ่มตั้งแต่รู้ตัวว่าเริ่มตั้งครรภ์ แม่จึงให้การดูแลปกป้องรักษาลูกน้อยในครรภ์ จนกระทั่งคลอดลูกออกมามีชีวิตได้อย่างปลอดภัย แม่เป็นผู้ที่ให้การเลี้ยงดู ให้ความอบอุ่นทั้งทางกายและทางใจแก่ลูก อบรมสั่งสอนลูกเพื่อให้ลูกเป็นคนดีเป็นที่รักของคนทั่วไป เมื่อลูกเติบใหญ่และถึงเวลาอันสมควรก็หาคู่ครองที่เหมาะสม และมอบทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้ลูกได้ครอบครองดูแลต่อจากแม่ การประพฤติปฏิบัติของแม่เป็นสิ่งสำคัญ จากการศึกษาวิจัยพบว่า แม่ที่ประเสริฐบริสุทธิ์เป็นผู้มีศีลธรรม มีความประพฤติดี ย่อมให้กำเนิดลูกที่ประเสริฐและบริสุทธิ์ คุณความดี ความรักอันบริสุทธิ์และความเข้าใจที่ดีของแม่ที่มีต่อลูกจึงเปรียบเสมือนเกราะแก้วกำบังให้แก่ลูก
URI: http://cms.dru.ac.th/jspui/handle/123456789/945
Appears in Collections:Thesis Dhonburi Rajabhat University - วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Title 1.pdfปก543.58 kBAdobe PDFView/Open
Title 2.pdfหน้าอนุมัติ553.69 kBAdobe PDFView/Open
Abstract.pdfบทคัดย่อ867.04 kBAdobe PDFView/Open
Acknowledgement.pdfกิติกรรมประกาศ75.21 kBAdobe PDFView/Open
Table of content.pdfสารบัญ1.23 MBAdobe PDFView/Open
Unit 1.pdfบทที่12.26 MBAdobe PDFView/Open
Unit 2.pdfบทที่24.02 MBAdobe PDFView/Open
Unit 3.pdfบทที่36.78 MBAdobe PDFView/Open
Unit 4.pdfบทที่44.97 MBAdobe PDFView/Open
Unit 5.pdfบทที่54.61 MBAdobe PDFView/Open
Unit 6.pdfบทที่63.49 MBAdobe PDFView/Open
Bib.pdfบรรณานุกรม1.2 MBAdobe PDFView/Open
Appendix.pdfภาคผนวก2.73 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.