Please use this identifier to cite or link to this item: http://hdl.handle.net/123456789/953
Title: การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนย่านตลาดพลู
Other Titles: Social and Cultural Change of TaladPhluu Community
Authors: กวี, รักษ์พลอริยคุณ
Ruxpholariyakul, Gawee
Keywords: การเปลี่ยนแปลงทางสังคม,วัฒนธรรม,ชุมชนตลาดพลู,สังคมและวัฒนธรรม,วิทยานิพนธ์
Issue Date: 2003
Publisher: Dhonburi Rajabhat University Office of Academic Resources And Information Technology
Abstract: วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของบริเวณที่เรียกว่า “ย่านตลาดพลู” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการปรับตัวของผู้คนในย่านตลาดพลูต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เกิดขั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยคุณภาพ โดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นแนวทางในการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการวิจัยประกอบด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และใช้วิธีการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ชุมชนย่านตลาดพลู โดยมีแนวคำถามในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ผลกระทบและการปรับตัวของผู้คนในด้านต่าง ๆ รวมถึงได้ใช้ข้อมูลจากการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดมาประกอบก่อนที่จะสรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาพบว่าชุมชนย่านตลาดพลูมีประวัติความเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มชาวไทยซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่นี้มาแต่ดั้งเดิม และต่อมามีกลุ่มที่อพยพจากกรุงศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียงมาสมทบ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มชาวจีน ซึ่งอพยพเข้ามามากในช่วงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี และในช่วยเวลาต่อมาที่ประเทศจีนเกิดความแห้งแล้ง และขาดแคลนอาหาร กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มชาวมอญ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นายกองมอญขนาดเล็กที่อพยพเข้ามาในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในปัจจุบันปรากฏว่า ไม่มีเชื้อสายของกลุ่มมอญเหล่านี้หลงเหลืออยู่ และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มชาวไทยมุสลิม ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียงกลุ่มหนึ่ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งถูกต้อนเป็นเชลยสงครามมาจากเมืองปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนย่านตลาดพลูเกิดขึ้นโดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการคือ 1) นโยบายของภาครัฐ 2)ประชากร 3) ค่านิยมและการศึกษา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน โดยการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ เริ่มขึ้นเมื่อมีการขุดคลองในสมัยพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2065) และหลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2444) รัฐได้มีนโยบายสร้างทางรถไฟผ่านเข้ามาในย่านตลาดพลู ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านพื้นที่ และเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปจากเดิมซึ่งมีการเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมี “พลู” เป็นผลิตผลที่สำคัญ การพัฒนาของภาครัฐในเวลาต่อมาคือการตัดถนนผ่านเข้ามาในย่านนี้อีก 3 สาย ได้แก่ ถนนเทิดไท ถนนรัชดา – ท่าพระ และถนนตากสิน – เพชรเกษม เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพและทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากความเจริญทางการค้าในบริเวณตลาดพลู และค่านิยมทางการศึกษาสมัยใหม่เป็นปัจจัยสำคัญอีก 2 ประการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเสื่อมความนิยมในการกินหมากและพลู ทำให้ย่านตลาดพลูซึ่งเคยเป็นแหล่งปลูกพลูที่มีชื่อเสียงในย่านบางกอกมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคมซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อคนในสังคม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในย่านตลาดพลูได้ส่งผลต่อสถาบันครอบครัวและระบบเครือญาติ ทำให้เกิดมีครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าแบบแผนและลักษณะการประกอบอาชีพได้เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดีในด้านวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละกลุ่มชนในย่านตลาดพลูพบว่าสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีไว้ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะในกลุ่มชาวไทยมุสลิม ส่วนชาวไทยพุทธและชาวไทยเชื้อสายจีนได้รับผลกระทบที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ ไปบ้าง โดยมีประเพณีบางอย่างถูกลดความสำคัญลงซึ่งมีเงื่อนไขมาจากปัจจัยด้านค่านิยมและสภาพเศรษฐกิจ สรุปได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้สะท้อนให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) พัฒนาการของชุมชนย่านตลาดพลูที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมาถึง 3 ยุคสมัย และ 2) ลักษณะและกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบไปยังวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดการปรับตัวของผู้คนในย่านตลาดพลูในลักษณะการยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นของคนในชุมชน การศึกษาในครั้งนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นแนวทางในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งอื่น ๆ แล้วยังช่วยให้ผู้คนในย่านตลาดพลูได้รับรู้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนด้วย จึงควรจะได้มีการวิจัยชุมชนย่านตลาดพลูในด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ภาพของชุมชนที่สมบูรณ์ขึ้น เป็นต้นว่า ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกันเพื่อหาความสัมพันธ์หรืออิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงระหว่างชุมชนต่าง ๆ
URI: http://cms.dru.ac.th/jspui/handle/123456789/953
Appears in Collections:Thesis Dhonburi Rajabhat University - วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี
Thesis Dhonburi Rajabhat University - วิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Title 1.pdfปก537 kBAdobe PDFView/Open
Title 2.pdfหน้าอนุมัติ524.81 kBAdobe PDFView/Open
Abstract.pdfบทคัดย่อ293.02 kBAdobe PDFView/Open
Acknowledgement.pdfกิติกรรมประกาศ52.49 kBAdobe PDFView/Open
Table of content.pdfสารบัญ1.04 MBAdobe PDFView/Open
Unit 1.pdfบทที่12.73 MBAdobe PDFView/Open
Unit 2.pdfบทที่210.74 MBAdobe PDFView/Open
Unit 3.pdfบทที่31.63 MBAdobe PDFView/Open
Unit 4.pdfบทที่418.13 MBAdobe PDFView/Open
Unit 5.pdfบทที่52.98 MBAdobe PDFView/Open
Bib.pdfบรรณานุกรม987.62 kBAdobe PDFView/Open
Appendix.pdfภาคผนวก2.3 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.